หากจะพูดถึง Rolex หลายๆ คนอาจจะนึกถึงนาฬิกาหรู ที่มีราคาแพงลิบลิ่ว แต่นอกจากความหรูหราและราคาสูงลิ่วแล้ว Rolex ในแต่ละรุ่นก็ยังมีเรื่องราวและตำนานที่เหล่าคนรักนาฬิกาหลงไหลและนิยมสะสมกันอยู่ และวันนี้เราจะพาไปรู้จักกับวิวัฒนาการของสารเรืองแสงหรือพรายน้ำบนตัวเรือน Rolex กัน
สารเรืองแสงถูกค้นพบครั้งแรกในช่วงปี 1898 โดย Marie Slodowska-Curie และ Pierre Curie สามีของเธอ โดยสารเรืองแสงดังกล่าวมีชือว่า Radium ซึ่งเป็นธาตุกัมมันตรังสีที่มีจุดเด่นคือ สามารถเรืองแสงได้ด้วยตัวเอง และต่อมามีการนำ มาผสมกับ Zinc Sulfide สำหรับใช้เคลือบลงบนหน้าปัดนาฬิกาเพื่อให้สว่างได้มากขึ้น และนำมาใช้กับนาฬิกาพกของทหารเพื่อที่จะสามารถมองในที่มืดได้อย่างชัดเจนในต้นทศวรรษที่ 1900
ต่อมาในช่วงปี 1920 Radium ถูกค้นพบว่าเป็นอันตรายต่อผู้สวมใส่ ทำให้วงการอุตสาหกรรมนาฬิกา รวมถึง Rolex พยายามที่จะค้นหาสารเรืองแสงชนิดใหม่มาทดแทน แต่กระนั้นก็ยังคงใช้ Radium จนถึงต้นปี 1960 ซึ่งถึงแม้จะใช้ในปริมาณที่น้อยลงและมีการควบคุมเรื่องความปลอดภัย ก็ยังก่อให้เกิดความกังวลใจ จนกระทั่งพบสารเรืองแสงตัวใหม่อย่าง Tritium ในปี 1963 อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่า Tritium จะมีค่ากัมมันตรังสีที่ต่ำกว่า แต่ก็มีระยะเวลาเรืองแสงได้สั้นกว่า Radium ซึ่งเมื่อใช้งานไปประมาณ 10-20 ปี สีก็จะจางลง รวมถึงพรายน้ำบนหน้าปัดนาฬิกาก็อาจจะเปลี่ยนสีไปตามกาลเวลา และทิ้งคราบไว้ ซึ่งบางคนก็ชอบที่จะปล่อยไว้อย่างนั้นแต่บางคนก็นำกลับไปเพ้นท์สีพรายน้ำใหม่
และถึงแม้ Tritium จะปลอดภัยกว่า Radium หลายเท่า แต่ก็ยังคงมีค่ากัมมันตภาพรังสีอยู่ ทำให้ผู้ผลิตนาฬิกา ต้องแจ้งผู้สวมใส่ด้วยการทำเครื่องหมายบนหน้าปัดเพื่อบ่งชี้ระดับกัมมันตภาพรังสีในนาฬิกา เช่น
“T Swiss T” หรือ “ Swiss T<25”
เมื่อ Tritium ยังไม่ใช่คำตอบสุดท้าย Rolex จึงพยามหาตัวเลือกใหม่ที่ดีกว่า จนในช่วงปี 1990 Rolex ได้พบกับ Luminova ที่ผลิตโดยบริษัทญี่ปุ่นชื่อ Nemoto and Co. และเปลี่ยนมาใช้ Luminova กับนาฬิกาทุกเรือนในปี 1998 โดยจุดเด่นของ Luminova นั้นไม่เพียงแต่จะปลอดภัยต่อผู้สวมใส่แล้วแต่ ยังมีความสว่างและเรืองแสงได้ในระยะเวลานานกว่าสารจากกัมมันตภาพรังสี เมื่อใช้ไปนานๆ สีก็ไม่ซีดจางเหมือนวัสดุรุ่นก่อนๆ เพราะสามารถชาร์จพลังงานใหม่ได้ในทันทีเพียงแค่สัมผัสกับแสงเท่านั้น ในขณะเดียวกันนี่ก็คือข้อเสียของ Luminova เช่นกัน เพราะไม่สามารถเรืองแสงได้ตลอดเวลา เมื่อพลังงานที่เก็บสะสมหมดลงความสว่างของแสงก็จะค่อยๆ ลดลงจนดับไป และต่อมาในปี 2000 Rolex ได้เปลี่ยนมาใช้ Super-LumiNova ซึ่งเป็นสารเรืองแสงที่ผลิตและจำหน่ายโดยผู้ผลิตในสวิตเซอร์แลนด์
จากนั้นในปี 2008 Rolex ได้เปลี่ยนมาใช้ Chromalight ที่ใช้หลักการดูดซับพลังงานแสงเหมือน Super-Luminova แต่สิ่งที่แตกต่างก็คือ Chromalight จะเรืองแสงเป็นสีฟ้าไม่ใช่สีเขียว ซึ่งง่ายต่อการมองเห็นในที่ๆ มีแสงน้อย และเปลี่ยนเป็นสีขาวในตอนกลางวัน นอกจากนี้ยังสามารถชาร์จพลังงานแสงได้อย่างรวดเร็วและใช้งานได้นานถึง 8 ชั่วโมง ไม่เพียงเท่านั้นการเปลี่ยนมาใช้ Chromalight ทำให้นาฬิกา Rolex รุ่นใหม่ๆ มีความโดดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ และสะท้อนให้เห็นถึงวิวัฒนาการในการผลิตนาฬิกาของ Rolex
และนี่ก็คือวิวัฒนาการของสารเรืองแสงหรือพรายน้ำบนหน้าปัดนาฬิกาของ Rolex ซึ่งไม่ว่าจะเป็นวัสดุเรืองแสงอย่าง Tritium หรือ Chromalight ก็ล้วนเป็นตำนานและมีเรื่องราวให้พูดถึงอยู่เสมอ และท้ายที่สุดแล้วก็ขึ้นอยู่กับความชอบของผู้สวมใส่ว่าพรายน้ำรุ่นไหนของ Rolex ที่ถูกใจคุณ
Kommentare